วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561

 นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กล่าวว่า วันที่ 31 มกราคม จะเกิดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งแรกของปีนี้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.51 - 21.07 น. จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศทางทิศตะวันออกในช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.30 น. เป็นต้นไป ที่ตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลก จะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฎใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย โดยดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 17.51 น.
           จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18.48 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19.51 น. ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวงจะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง เมื่อสิ้นสุดปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหลังเวลา 21.07 น. ไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกกลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกหมดทั้งดวงในเวลา 22.11 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์จากเงามัวของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แล้วสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 23.08 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฎการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ ปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในไทยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้
           ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กล่าวย้ำว่าปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ในครั้งนี้สามารถเห็นได้หลายพื้นที่ทั่วโลก คือ ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย บริเวณตอนเหนือและตะวันออกของทวีปยุโรป ตอนเหนือและตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตอนเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่เงามืดทั้งดวง แล้วจะเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก ช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกบางส่วนจะเรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” และช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า “จันทรุปราคาเต็มดวง” จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากได้รับแสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวที่สุดหักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์



         หลากความเชื่อในคืนพระจันทร์แดง หากค่ำคืนหนึ่งพระจันทร์ที่เคยสุกสว่างสีเหลืองนวลกลับค่อยๆ มืดมิดลงไปและกลายเป็นสีแดง แน่นอนว่าชาวบ้านที่พบเห็นต่างต้องหวั่นเกรงถึงภัยอันตรายและลางร้ายที่กําลังมาเยือน โดยคนสมัยก่อนเชื่อว่า จันทรคราส เกิดจากเทพองค์หนึ่งชื่อ "ราหู" เกิดความโกรธที่พระจันทร์ฟ้องร้องต่อ
พระอิศวรว่า พระราหูกระทําผิดกฎของสวรรค์คือแอบไปดื่มน้ำอมฤตที่ทําให้ชีวิตเป็นอมตะ พระอิศวรจึงลงโทษโดยตัดลําตัวราหูออกเป็น 2 ท่อน พระราหูจึงทําการแก้แค้นโดยการไล่ "อม" พระจันทร์ คนไทยในสมัยโบราณ จึงเรียกปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์มืดลงและกลายเป็นสีแดงอิฐนี้ว่า
เกิด"คราส" หรือ "จันทรคราส" (คราส แปลว่า กิน)
        ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดจันทรุปราคาครั้งใด ผู้คนก็จะช่วยกันตีเกราะเคาะไม้ตีปี๊บ หรือส่งเสียงดังๆเพื่อขับไล่พระราหูให้ปล่อยดวงจันทร์เสีย ไม่ต่างจากคนจีนในสมัยโบราณที่เชื่อว่าจันทรุปราคาเกิดจากมังกรไล่เขมือบดวงจันทร์ จึงต้องจุดประทัดและตีกลองไล่เพื่อให้มังกรคายดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ออกมา 

วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

สภาพการเปลี่ยนเเปลงของโลก

             การเปลี่ยนแปลงสภาวะโลก

        โลกเป็นดาวเคราะห์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (Dynamic planet)  ตอนที่ระบบสุริยะเพิ่งกำเนิดขึ้น ดวงอาทิตย์มีขนาดเล็กกว่ายุคปัจจุบัน เปลือกโลกปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากภายในเพื่อสร้างภาวะเรือนกระจก ทำให้มหาสมุทรมีความอบอุ่นจนสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ เมื่อดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่่ขึ้น สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรสร้างคลอโรฟิลล์ สังเคราะห์แสงและปล่อยแก๊สออกซิเจนขึ้นสู่บรรยากาศ (ดังที่แสดงในภาพที่ 1) ทำให้ภาวะเรือนกระจกลดน้อยลง  เมื่อแก๊สออกซิเจนลอยตัวขึ็้นสู่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ดูดกลืนรังสีอัลตาไวโอเล็ตแล้วกลายเป็นโอโซนป้องกันรังสีอัลตราไวโอเล็ต ทำให้สิ่งมีชีวิตแพร่พันธุ์ขึ้นมาดำรงชีวิตบนบกได้  จากนั้นจึงมีวิวัฒนาการสัตว์กินพืชเพื่อควบคุมปริมาณออกซิเจนไม่ให้มากเกินไป 
ภาพที่ 1 การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของบรรยากาศ

        ในยุคหินเก่าเมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว โลกมีประชากรมนุษย์เพียง 1 – 5 ล้านคน ดำรงชีวิตด้วยการกินพืชและล่าสัตว์เช่นเดียวกับสัตว์ผู้ล่าทั้งหลาย จนประมาณหนึ่งหมื่นล้านปีที่แล้ว มนุษย์มีวิวัฒนาการหาเลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์โดยใช้พื้นที่เล็กๆ จึงไม่กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศ  จนกระทั่งเริ่มยุคโลหะเมื่อห้าพันปีมานี้ มนุษย์เริ่มรู้จักสร้างเครื่องมือจากโลหะ การตัดไม้ได้เริ่มต้นตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา  อย่างไรก็ตามจำนวนประชากรมนุษย์ยังคงเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งได้มีการคิดค้นยาปฏิชีวนะ ทำให้อัตราการตายน้อยกว่าอัตราการเกิดมาก จำนวนประชากรมนุษย์จึงทวีขึ้นอย่างสะสมตั้งแต่นั้นมาดังที่แสดงในกราฟที่ 2  จนมาถึงยุคปฏิวัติทางอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ ..2390  มนุษย์ใช้เครื่องจักรกลในการสร้างผลผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวก จึงเกิดการบริโภคพลังงานปริมาณมหาศาล ประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทำให้ต้องการพื้นที่ในการอยู่อาศัยและทำเกษตรกรรมซึ่งรวมถึงพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ ผืนป่าได้ถูกถางโค่นเพื่อนำไม้มาเป็นพลังงาน และวัตถุดิบในการผลิต เทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นเลื่อยไฟฟ้าและรถแทรกเตอร์ถูกนำมาใช้ ทำให้การตัดไม้ถางป่าเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว พื้นที่ป่าของโลกลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ภาพที่ 2 อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์

        ผลพวงจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกมิใช่มีแต่เพียงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำกิน  แต่จะสร้างผลกระทบแบบลูกโซ่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะของโลกในหลายมิติ  เราอาจอธิบายถึง การเปลี่ยนแปลงสภาวะของโลกซึ่งเกิดจากสิ่งที่มองเห็นในวิถีชีวิตประจำวัน ได้ดังนี้  
  • เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นเมืองก็ใหญ่ขึ้น  เมื่อเมืองใหญ่ขึ้น บ้านและที่ทำงานก็จะอยู่ห่างไกลกันมากขึ้น ทำให้เราต้องใช้พาหนะในการเดินทาง อันจะนำมาซึ่งการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง ปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศ ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น  
  • เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่การเกษตร  เมื่อเมืองใหญ่ขึ้น พื้นที่การเกษตรถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ชุมชน  ทำให้อัลบีโดของพื้นโลกเปลี่ยนแปลงไป 
  • เมื่อพื้นที่ป่าเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่การเกษตร การเผาป่าและการเผ่าไร่มีมากขึ้น ปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศ​ ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 
  • ระบบคลังสินค้าของมนุษย์ ทำให้มนุษย์สะสมอาหารจำนวนมากไว้ในศูนย์การค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงลูกโซ่อาหารและระบบนิเวศ 
  • เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นความต้องการในการผลิตมากขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมทุกชนิดปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก  แก๊สเรือนกระจกบางชนิดเช่น ฟรีออน (แก๊สชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสาร CFC) มิได้ส่งผลกระทบแต่เรื่องภาวะเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังทำลายโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอีกด้วย